; ภูมิแพ้ รู้ไว้ไม่แพ้ -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

ภูมิแพ้ รู้ไว้ไม่แพ้



ภูมิแพ้เป็นกลุ่มอาการที่แสดงการเกิดโรคได้หลายระบบในร่างกาย แบ่งเป็น

        1. ภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ ประกอบด้วยกลุ่มอาการที่แสดงทางจมูก ช่องคอ หลอดลมและ ปอด
        2. ภูมิแพ้ระบบทางเดินอาหาร
        3. ภูมิแพ้ที่แสดงออกทางตา
        4. ภูมิแพ้ที่แสดงออกทางระบบไหลเวียนโลหิตและหลอดเลือด
        5. ภูมิแพ้ทางผิวหนัง

        ประชากรส่วนใหญ่มักจะประสบปัญหาภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหารเป็นหลัก หากกล่าวเฉพาะทางจมูก จะพบว่าจากประมาณการขององค์การอนามัยโลก ในปี พ.ศ. 2551 คาดว่ามีผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ มากกว่า 500 ล้านคนทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยคาดว่ามีผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ในผู้ใหญ่ถึงร้อยละ 15.5

        ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ส่วนใหญ่ มักจะมีอาการ น้ำมูกไหล คัดจมูก จาม และคันจมูกร่วมกับมีหรือไม่มีอาการคันตา โดยความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย ในบางรายอาการรุนแรงมากจนรบกวนคุณภาพชีวิต ส่งผลเสียต่อการทำงานหรือการเรียนได้

        การวินิจฉัยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้นอกจากจะอาศัยประวัติการดำเนินโรคแล้ว ควรจะต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันร่วมด้วย ในปัจจุบันการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการที่เป็นที่ยอมรับคือการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังด้วยวิธีสะกิด (skin prick test) และการตรวจเลือดหาอิมมูโนโกลบูลินอี (IgE) ที่จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้ โดยวิธีแรกกระบวนการทดสอบทำได้ง่ายกว่า ทราบผลรวดเร็ว และค่าใช้จ่ายน้อยกว่าวิธีที่สอง ซึ่งในบทความนี้จะขอนำเสนอข้อมูลของการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังด้วยวิธีสะกิด (skin prick test) เป็นหลัก

        วัตถุประสงค์ของการทำ Skin Prick Test ก็เพื่อยืนยันการวินิจฉัยภาวะภูมิแพ้ในผู้ป่วย ว่าอาการของโรคที่เป็นอยู่เป็นจากปฏิกิริยาการแพ้ในร่างกายจริงหรือไม่ เพราะบางครั้งอาการแสดงบางโรคของผู้ป่วยจะคล้ายคลึงกับอาการของโรคภูมิแพ้มาก ทำให้การวินิจฉัยอาจคลาดเคลื่อนและส่งผลต่อการตัดสินใจในการรักษาของแพทย์ นอกจากนี้การทำ Skin Prick Test ยังช่วยบอกได้ว่า ผู้ป่วยมีอาการแพ้จากสารก่อภูมิแพ้ชนิดไหนซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการรักษา เพราะการรักษาที่ดีที่สุดของโรคภูมิแพ้ก็คือการหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้นั่นเอง

        วิธีการทดสอบ Skin Prick Test เริ่มจาก การใช้น้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่างๆ มาหยดลงบนผิวหนัง บริเวณที่นิยมคือท้องแขนหรือแผ่นหลัง จากนั้นใช้เข็มฉีดยาขนาดเล็ก ( needle No.27) เขี่ยสะกิดผิวหนังบริเวณที่สัมผัสน้ำยา โดยต้องระมัดระวังไม่ให้น้ำยาที่ใช้ทดสอบสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิดไหลมาปะปนกัน จากนั้นเฝ้าสังเกตปฏิกิริยาการแพ้ที่จะแสดงออกทางผิวหนังประมาณ 15 นาที ดังภาพ ซึ่งจะเป็นตุ่มนูน ขนาดใหญ่มากกว่า 3 mm. แต่ผู้ป่วยบางคนอาจเกิดปฎิกิริยาได้ช้ากว่านั้นคือ 2 – 24 ชั่วโมงหลังทำการทดสอบ

        ขณะทำการทดสอบ Skin Prick Test ผู้ป่วยบางรายอาจมีปฏิกิริยาแพ้รุนแรงโดยแสดงอาการออกมาหลายระบบ เช่น หายใจติดขัด แน่นหน้าอก ใจสั่น หน้ามืด ความดันโลหิตต่ำ ดังนั้นการทดสอบ Skin Prick Test จึงควรทำในสถานพยาบาลที่มีความพร้อมในการดูแลรักษาผู้ป่วยหากเกิดอาการแพ้รุนแรงจะได้ให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที

        การทดสอบ Skin Prick Test ควรทำในบุคคลที่มีอาการสงสัยว่าจะเป็นโรคภูมิแพ้ โดยทั่วไปควรทำหลังอายุ 6-8 ปี เนื่องจากในผู้ป่วยอายุน้อยกว่านี้จะมีปัจจัยทางระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายมาทำให้ผลการทดสอบไม่ค่อยแม่นยำ อีกทั้งผู้ป่วยอายุน้อยมักจะไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการทดสอบได้สะดวกเหมือนผู้ใหญ่ ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้รุนแรงถึงขั้นความดันโลหิตต่ำรุนแรง ( anaphylaxis shock ) ทำการทดสอบ Skin Prick Test เนื่องจากมีโอกาสเกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ และไม่แนะนำให้ทำการทดสอบ Skin Prick Test ในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ เพราะสามารถเกิดผลบวกลวงได้

หากผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการทดสอบ Skin Prick Test จะต้องปฏิบัติตัวดังนี้

        1. หยุดยาทุกชนิดที่มีส่วนผสมของยาแก้แพ้ ( antihistamine ) เช่น ยาแก้แพ้ทางจมูก ยาลดน้ำมูกลดหวัด ยาแก้ผื่นคัน มาก่อนวันทดสอบ อย่างน้อย 7 วัน
        2. งดยาสเตียรอยด์ชนิดทาผิวหนัง เฉพาะผิวหนังบริเวณที่จะทำการทดสอบอย่างน้อย 7 วัน

        ชนิดของน้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้แบ่งเป็นสามกลุ่มใหญ่ คือ น้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ น้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ระบบทางเดินอาหาร และ น้ำยาสกัดสารก่อภูมิแพ้ประเภทยารักษาโรค เช่น ยาปฏิชีวนะ  ซึ่งในหนึ่งชุดการทดสอบ Skin Prick Test อาจประกอบด้วยน้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้เพียงชนิดเดียว ไปจนถึง 20 กว่าชนิดได้  น้ำยาสารก่อภูมิแพ้ 14 ชนิดที่พบได้บ่อยในเมืองไทย คือ 

        1. ไรฝุ่นชนิด D. farinase  
        2. ชนิด D. pteronyssinus  
        3. ฝุ่นบ้าน (House dust ) 
        4. ขนสุนัข (Dog) 
        5. ขนแมว (Cat)
        6. ขนสัตว์ปีก (Feathers) 
        7. แมลงสาบ (Cockroach) 
        8. นุ่น (Kapok) 
        9. ผ้าฝ้าย (Cotton) 
        10. เชื้อรา ชนิด Alternaria 
        11. Penicillium และ
        12. Aspergillus 
        13. หญ้าปล้อง (Burmuda) 
        14. หญ้าแพรก (Johnson)  เป็นต้น

        หลังทราบการวินิจฉัยและทราบสารที่ก่อให้เกิดภาวะภูมิแพ้แล้ว ก็เป็นหน้าที่ของทั้งแพทย์และผู้ป่วยในการร่วมกันวางแนวทางในการรักษา ที่กล่าวเช่นนี้เพราะแพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าผู้ป่วยแต่ละรายควรได้รับการรักษาโดยวิธีใดจึงจะเหมาะสม รวมถึงเป็นผู้ให้ข้อมูลการปฏิบัติตัวในการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้กับผู้ป่วยแต่ละราย ขณะที่ผู้ป่วยเองจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจในการเลือกรับการรักษาในแต่ละวิธี และจะต้องนำข้อมูลที่ได้กลับไปปฏิบัติร่วมกับการใช้ยารักษาอย่างจริงจัง จึงจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการรักษาอย่างสูงสุด